รีวิว No Time To Die

รีวิว No Time To Die
รีวิว No Time To Die

เจมส์ บอนด์ (Daniel Craig) กำลังสนุกไปกับชีวิตอันเงียบสงบในจาไมก้า แต่ช่วงเวลาพักผ่อนนั้นก็เป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ เพราะ ‘เฟลิกซ์ เลเตอร์’ (Jeffrey Wright) เพื่อนเก่าจากซีไอเอ มาขอให้เขาช่วยทำงาน เป้าหมายคือช่วยชีวิตนักวิทยาศาสตร์ที่ถูกลักพาตัวไป ซึ่งเหตุการณ์นี้ดูเลวร้ายกว่าที่คิดไว้ บอนด์ต้องเข้าไปเผชิญกับศัตรูลึกลับที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่สุดอันตรายเป็นอาวุธ
หลังจากที่เลื่อนฉายเพราะสถานการณ์โควิด-19 ยาวนานสามครั้งสามครา รวมเวลาก็นานนับปี ในที่สุด ภาพยนตร์แฟรนไชส์สายลับเจมส์ บอนด์ 007 ภาคที่ 25 ในชื่อว่า ‘No Time To Die’ ก็ได้ฤกษ์เข้าฉายอย่างเป็นทางการซะที
ซึ่งภาคนี้มีความสำคัญอีกอย่างก็ตรงที่ ภาคนี้จะเป็นการรับบทเจมส์ บอนด์ครั้งสุดท้ายของ ‘แดเนียล เครก’ (Daniel Craig) เจมส์บอนด์ที่มีเอกลักษณ์ตาสีฟ้า ผมสีบลอนด์ พร้อมด้วยสกอร์ประกอบภาพยนตร์สุดยิ่งใหญ่โดย ‘ฮานส์ ซิมเมอร์’ (Hans Zimmer) ที่ยังคงทรงพลังในทุกสกอร์ในทุก ๆ ฉากแบบไม่มีผิดหวัง

รีวิว No Time To Die เนื้อเรื่อง

รีวิว 007: No Time To Die – KWANMANIE
สำหรับ ‘No Time To Die’ ภาคนี้เล่าเรื่องถึงเจมส์ บอนด์ ที่วางมือจากการเป็นนักสืบไปแล้ว และใช้ชีวิตอยู่ที่จาไมกา พร้อมกับคนรักอย่าง ‘ดร. เมเดอลีน’ (Léa Seydoux) จากภาคที่แล้ว ‘Spectre’ (2015) ที่ในภาคนี้จะได้เห็นความสัมพันธ์ของทั้งคู่แบบชัดเจนยิ่งขึ้น แต่สายลับบอนด์กับ ดร. เมเดอลีนที่กำลังพักผ่อนอยู่ที่อิตาลีกลับอยู่สุขได้ไม่นาน
เพราะ ‘เฟลิกซ์ เลเตอร์’ (Jeffrey Wright) เพื่อนเก่าจากหน่วยซีไอเอ มาขอให้เขาไปช่วยตามหานักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซีย ที่ถูกลักพาตัวไปพัฒนาอาวุธเชื้อโรคร้ายแรง “โปรเจกต์ เฮราคลีส” (Project Heracles) ที่ ‘ซาฟิน’ (Rami Malek) เป็นเจ้าของ
ในขณะที่เจมส์ บอนด์ ก็ต้องแก้ปัญหาหัวใจไปด้วย เมื่อบอนด์พบว่า ดร. เมเดอลีน จริง ๆ แล้วมีความลับบางอย่างซ่อนอยู่ แถมเมื่อกลับมารับหน้าที่ ก็ยังโดน ‘โนมิ’ (Lashana Rasheda Lynch) สายลับสาวรุ่นใหม่แย่งรหัส 007 ไปใช้อีก บอนด์ในฐานะนักสืบไร้รหัส
จึงต้องกลับมาทวงบัลลังก์นักสืบ 007 ตัวจริง พร้อมกับแก้ปมในใจบางอย่าง ไขความลับที่ไม่เคยถูกเปิดเผยมาเนิ่นนานไปพร้อม ๆ กับการทำลายโปรเจกต์เชื้อโรคอันตรายให้สิ้นซาก
ในแง่ของบทและเนื้อเรื่อง ‘No Time To Die’ เป็นการเขียนบทขึ้นใหม่โดยใช้แรงบันดาลใจจากนิยายเจมส์ บอนด์โดย ‘เอียน เฟลมมิง’ (Ian Fleming) ซึ่ง ‘แครี โจจิ ฟุกุนากะ’ (Cary Joji Fukunaga) ผู้กำกับสัญชาติอเมริกันคนแรกของหนังเจมส์ บอนด์ ได้หยิบเอาภาค ‘คาสิโน รอแยล’ (Casino Royale)
ซึ่งเป็นภาคแรกของแดเนียล เครก (และหนังสือนิยายเจมส์ บอนด์ เล่มแรก) มาเป็นแรงบันดาลใจสำหรับบทภาพยนตร์เรื่องนี้ สำหรับผู้เขียนแล้ว ‘No Time To Die’ เป็นภาคที่ดึงเอา “ขนบ” หนังเจมส์ บอนด์กลับมาอย่างครบถ้วน ซึ่งคนที่ไม่ได้เป็นแฟนหนัง ก็อาจจะมองว่าเนื้อเรื่องมีความจำเจอยู่บ้างอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้นั่นแหละครับ
หลังจากที่ในภาคอื่น ๆ โดยเฉพาะภาคของแดเนียล เครก เราจะเห็นการพยายาม “หลบ” ขนบเหล่านี้อยู่บ้าง ในบางภาคก็ต้องยอมรับว่ามันก็ทำให้เสน่ห์บางอย่างของแฟรนไชส์หนังเจมส์ บอนด์ หายไปพอสมควรเหมือนกัน แต่ในภาคนี้ อาจจะเพราะว่ามันเป็นภาคที่ยาวที่สุดในบรรดาหนังเจมส์ บอนด์ทุกภาคด้วยแหละ
มันเลยทำให้สามารถใส่ทุกอย่างให้ออกมาสนุกได้แบบไม่ต้องกั๊กอะไรให้วุ่นวาย ซึ่งนั่นก็ต้องแลกกับความจำเจใน “ขนบ” บางอย่างที่ยังคงอยู่ในภาคนี้เหมือนกัน
รีวิวหนัง No Time To Die - การส่งท้ายบทบอนด์ที่ยอดเยี่ยมของแดเนี่ยล เคร็ก
ฉากแอ็กชันในภาคนี้ ต้องบอกว่าใส่มาแบบเล่นใหญ่ไฟกะพริบ และยังคงดุดัน ซาดิสม์นิด ๆ ตามสไตล์แดเนียล เครก ที่ครบเครื่องทั้งการใช้อาวุธ และศิลปะป้องกันตัว และการรวมทีมช่วยเหลือของสมาชิกหน่วย MI6 ในสไตล์หนังเจมส์ บอนด์ยุคแดเนียล เครก ที่ไม่จำเป็นต้องให้บอนด์ออกไปฉายเดี่ยวจนดูเก่งเกินมนุษย์ แต่ก็ยังคงมีอาวุธไฮเทคจาก ‘Q’ (Ben Whishaw) ให้พึ่งพาได้โดยไม่ต้องโชว์อุปกรณ์แบบพรึ่บพรั่บ โดยเฉพาะรถ ‘Aston Martin DB5’ ที่ผู้เขียนมองว่า นี่คืออุปกรณ์ช่วยชีวิตของเจมส์ บอนด์ในภาคนี้เลยแหละ
นอกจากนั้น ถ้าสังเกตเหตุการณ์รายทางตลอดทั้งเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ เราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลง ลบล้าง ทำลายอะไรบางอย่างอยู่เนือง ๆ อยู่เหมือนกันนะครับ สำหรับผู้เขียนเอง มันก็อาจทำให้คิดไปถึงว่า หรือ 007 ภาคต่อไป (ที่นำโดยเจมส์ บอนด์คนใหม่) อาจจะเป็นการ “รีเซต” เนื้อหาเดิม
เพื่อก้าวไปสู่เรื่องราวใหม่ ๆ ก็อาจจะมีความเป็นไปได้อยู่เหมือนกัน และสำหรับแฟน ๆ เจมส์ บอนด์ ต้องขอแอบกระซิบว่า ผู้กำกับได้แอบใส่ความขี้เล่น มุกฮาหน้าตาย แถมยังแอบใส่ Easter Egg เพื่อคารวะหนัง 007 ตอนเก่า ๆ และเวอร์ชันนิยายไว้ทั่วทั้งเรื่องด้วยนะครับ อันนี้บอกเลยว่าต้องสังเกตดี ๆ
คำวิจารณ์แรก No Time To Die จากสื่อต่างประเทศ แอ็กชั่นระทึก, งานสตันต์ดีงาม

การแสดงของนักแสดง

ส่วนในแง่ของการแสดง ‘ดร. เมเดอลีน’ (Léa Seydoux) คนรักของบอนด์จากภาคที่แล้ว (‘Spectre’ (2015) ก็จะมีบทบาทขึ้นอย่างมากในภาคนี้ นอกจากความไม่น่าไว้วางใจแล้ว เรื่องราวที่ใหญ่กว่าการลักพาตัวนักวิทยาศาสตร์ ก็คือ เธอคนนี้นี่แหละ ที่จะทำให้เราได้เห็นบอนด์ในอีกด้านที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนในภาคอื่น ๆ
ทั้งมุมโรแมนติก มุมน่ารักน่าเอ็นดู และมุมมองการเสียสละ ทำให้เจมส์ บอนด์ในภาคนี้ กลายเป็นภาคที่เต็มไปด้วยเรื่องราวดราม่าสะเทือนอารมณ์อย่างที่่ผู้เขียนเองก็นึกไม่ถึงมาก่อน
ส่วนอีก 2 ตัวละครที่ไม่พูดไม่ได้ก็คือ ‘โนมิ’ (Lashana Rasheda Lynch) สายลับหน้าใหม่รหัส 00 ที่เข้ามาเขย่าบัลลังก์นักสืบของเจมส์ บอนด์ และ ‘พาโลมา’ (Ana De Armas) ผู้ช่วยนักสืบสาวเซ็กซี่ชาวคิวบา ที่เรียกได้ว่าจัดเต็มทั้งฝีไม้ลายมือแอ็กชันกันทั้งคู่ ส่วนตัวผู้เขียนชอบคุณพาโลมา ที่แนะนำตัวเองว่าเป็นนักสืบน้องใหม่นะครับ
เพราะนอกจากเซ็กซี่มั่ก ๆ คุณเค้ายังวาดลวดลายลีลาแอ็กชันแสนจะดุเดือดเร่าร้อนชนิดที่ว่า แหม่…อยากให้มาเตะก้านคอซักป้าบจัง…
แต่ในขณะที่ตัวละครส่วนใหญ่ในภาคนี้ล้วนมีบทบาทมากขึ้น ก็แอบเสียดายตัวละครโคตรสำคัญอย่าง ‘เอิร์น สตาฟโร โบลเฟลด์’ (Ernst Stavro Blofeld) แสดงโดย ‘คริสตอฟ วอลซ์’ (Christoph Waltz) นายหัวแห่งองค์กร ‘Spectre’ ที่ถูกจำคุกในภาคนี้ครับ เพราะแม้ว่าเขาจะเป็นตัวร้ายตัวเป้งคู่กับเจมส์ บอนด์มาโดยตลอด
แต่ในภาคนี้กลับมาแบบสั้นมากกกก (ทีภาคที่แล้วมาซะเยอะเชียว 555) ผู้เขียนก็แอบเสียดายพลังการแสดงของลุงวอลซ์อยู่ไม่น้อยเลย (แม้ว่าภาคที่แล้วจะแอบน่ารำคาญนิด ๆ นะ 555) ถ้าให้ลุงแกได้มีบทอะไรมากกว่านี้ ก็น่าจะยังสูสีกับการเป็นตัวร้ายของเจมส์ บอนด์ได้เลยแหละ

สรุป

สรุปโดยรวมก็คือ นี่คือการปิดตำนานเจมส์ บอนด์ของแดเนียล เครก ความยาวเกือบ 3 ชั่วโมงที่อาจยาวไปหน่อยสำหรับคนที่ไม่ได้เป็นแฟนเดนตาย แต่ผู้เขียนก็มองว่า นี่เป็นหนึ่งในภาคที่ดีที่สุดของเขาแล้วล่ะ เป็นการปิดตำนานทีี่ถือว่าสมบูรณ์แบบ สำหรับแฟน ๆ เจมส์ บอนด์ รับรองว่าจุใจแน่นอน ทั้งแอ็กชันสุดระทึก ดราม่าเข้มข้น และบทสรุปที่คาดไม่ถึง ทำให้ภาคนี้กลายเป็นการสั่งลาบทเจมส์ บอนด์ที่สุดแสนจะสะเทือนใจที่สุดครั้งหนึ่งในจักรวาลภาพยนตร์เจมส์ บอนด์เลยทีเดียว

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *